วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เพลงอินดี้ คืออะไร ?


“เพลงอินดี้” เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้ว่า เพลงอินดี้คืออะไร? หมายถึงอะไร? โดยรากศัพท์ เพลงอินดี้ มาจากคำว่า Independent หมายถึง อิสระ ดังนั้นตามความหมายแล้ว เพลงอินดี้ หรือดนตรีอินดี้ก็คือดนตรีที่ผู้ผลิตคิดเองและทำเองอย่างมีอิสระ ปัจจุบันคำว่า เพลงอินดี้ ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปทำความรู้จักกับแฟนเพลงที่เบื่อดนตรีแนวเดิมๆ อยากหาสิ่งแปลกใหม่ เพลงอินดี้ (อิสระ) มาจากวงดนตรีอิสระ และนักดนตรีอิสระ (Independent Music from Independent Bands and Independent Musicians) น่าจะเป็นคำจำกัดความของความเป็น “อินดี้” ที่รวบรัด ต้นกำเนิด “เพลงอินดี้” เกิดขึ้นมาจากในยุคหนึ่งของวงการเพลง มีแต่แนวดนตรีสไตล์เดิมๆ ทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่มีรสนิยมการฟังเพลง ไม่ชอบอะไรซ้ำซาก คนกลุ่มนี้จึงพยายามแหวกแตกต่าง พูดง่ายๆ ก็คือต่อต้านกระแสหลัก หันไปทำดนตรีอะไรที่ตัวเองชอบ ทำให้ดนตรีมีแนวหลากหลายมากขึ้น แต่ทุกวันนี้คนสับสนกันมากกับคำว่า “เพลงอินดี้” จริงๆ แล้ว คำว่าอินดี้มันเป็นระบบการทำงาน ที่ว่าไม่ยึดติดค่าย มีอิสระในการทำงานสูง ไม่ใช่แนวเพลงใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนคนสับสนคิดว่า Chill Out คือชื่อแนวเพลง ซึ่งความจริงมันเป็นอารมณ์ต่างหาก ดังนั้นเพลงอินดี้ อาจเป็น แร๊ป ร๊อค ฮิปฮอป อิเล็คโทรนิก้า ดรัมแอนเบส ดั๊บ เฮฟวี่เมทัล ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่อินดี้…เพราะเพลงอินดี้คือชื่อระบบการทำงาน เมื่อดูจากความเป็นมา ดนตรีอินดี้ ได้มีส่วนเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมดนตรีไปตลอดกาล และพร้อมที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าในทุกยุคสมัย เพลงอินดี้ คือนักร้องหรือวงดนตรีที่ทำงานในการสร้างสรรค์ดนตรีและบทเพลงออกมาจากมันสมองอย่างหนักเหนื่อย แต่ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ไม่เคยสนใจ วิทยุก็ไม่เคยเปิดเพลงให้ เพราะเป็นศิลปินหน้าใหม่ไม่มีชื่อเสียง และถ้าอยู่ภายใต้สังกัดค่ายเพลงอินดี้เป็นอิสระด้วยตัวเองยิ่งไม่มีทางเลย เพราะมีเพียงบริษัทเพลงยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่แห่งที่มีอำนาจควบคุมตลาดเพลงอยู่ สาเหตุหนึ่งเพราะพวกเขาได้ก่อร่างสร้างอุตสาหกรรมเพลงและธุรกิจในสายนี้ขึ้นมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก จนทำให้เป็นองค์กรทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูงสุด หากดูความหมายดั้งเดิม “เพลงอินดี้” หมายถึง งานเพลงของวงดนตรีที่ออกกับค่ายเพลงอิสระ แต่ปัจจุบันได้แปรผันเป็นแนวดนตรีที่ออกกับค่ายยักษ์ใหญ่ก็ได้ โดยตลาดจะเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาหรือผู้ใหญ่ที่ต้องการฟังสิ่งที่ดีและใหม่กว่าที่มีอยู่ในท้องตลาด ไม่ใช่กระแสหลัก และไม่เดินตามก้นคนอื่น ไม่ใส่ใจในบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ในเวลาเดียวกัน อยู่เหนือทุกๆ สิ่งที่จริงแล้ว ขอบข่ายของ “Independent” ที่ใช้กันบ่อยแบบหยาบๆ กว้างๆ มีหลายแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นค่ายเพลงแยกย่อยของบริษัทเพลงยักษ์ใหญ่ ซึ่งก็ไม่ใช่เป็นอิสระไปทั้งหมด หรือเป็นค่ายเพลงเล็กๆ ในบริษัทเพลงยักษ์ใหญ่เช่นกัน แต่เจาะจงทำขึ้นมาเพื่อรองรับศิลปินระดับซูเปอร์สตาร์เป็นกรณีพิเศษเท่านั้น หรือค่ายเพลงอิสระที่อาศัยเครือข่ายการบริหารจัดการและจัดจำหน่ายของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ หรือ ค่ายเพลงที่เรียกดนตรีของตัวเองว่า อินดี้ มิวสิค ซึ่งอาจจะมีระบบที่เป็นแบบค่ายเพลงยักษ์ใหญ่หรือแบบค่ายเพลงอิสระก็ได้ หรือค่ายเพลงอิสระที่แตกต่างกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่หรือกระแสหลักแบบจริงๆ เพราะโดยหลักของความเป็นอิสระหรืออินดี้แล้ว ไม่ได้ตั้งแง่รังเกียจอุตสาหกรรมดนตรี เพียงแต่ต้องการเป็นนายของตัวเอง และหลีกเลี่ยงระเบียบแบบแผนที่ของบริษัทเพลงซึ่งใช้กันอยู่ประจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนหรือการเข้ามาบังคับกะเกณฑ์ในตัวงาน การใช้บริการของหน่วยธุรกิจใหญ่ๆ บางครั้งก็จะช่วยให้ทำในสิ่งที่ต้องการให้มีความเป็นไปได้ และยืนอยู่ในฐานะอิสระ เพราะ ‘อินดี้’ ไม่ใช่คำที่เคร่งครัดตายตัวศิลปินอินดี้ต้องมีคุณสมบัติขั้นพื้นฐาน DIY (Do-It-Yourself) คือศิลปินทำดนตรีและงานเพลงด้วยตัวของพวกเขาเองและนั่นคือ อินดี้

ขอขอบคุณ Kapook.com และ วิชาการ.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น